จัดหนักภาษีหว้าน...หวาน

เปิดสงครามล้างน้ำตาลในเครื่องดื่ม

รู้หรือไม่คนไทยบริโภคน้ำตาลมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน ผสมในอาหารและเครื่องดื่ม สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำวันละ 6 ช้อนชา กลายเป็นความหวานซ่อนพิษจาก ”น้ำตาล” ก่อให้เกิดสารพัดโรค ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโดยเฉพาะโรคเบาหวาน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทะลุ 5 ล้านคนไปแล้ว ยังไม่รวมกลุ่มคนป่วยที่ยังไม่รู้ตัวอีกจำนวนมากเป็นล้านคน

 

ในขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มพร้อมดื่มในไทยออกมาขายในตลาดอย่างหลากหลาย มูลค่าทะลุ 2 แสนล้านบาท เติบโตในอัตรา 4-5% ต่อปี ยังไม่รวมเครื่องดื่มยอดฮิต ล้วนแล้วแต่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเฉลี่ยมากกว่า 10 ช้อนชาในแต่ละเมนูให้เกิดรสชาติอร่อยจากความหวาน

แน่นอนเพื่อขจัดตัวการทำลายสุขภาพคนไทย จากความเสี่ยงในการบริโภคน้ำตาล ไทยจึงเริ่มมีแนวคิดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มพร้อมดื่มตั้งแต่ปี 2559 โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) มีมติเห็นชอบเสนอจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ไม่เว้นแม้แต่น้ำผลไม้ ต้องเสียภาษีเช่นกัน

ช่วงเริ่มแรกที่ พ.ร.บ.สรรพสามิตปี 2560 เรียกเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มเกือบทุกชนิด ได้มีการกำหนดอัตราภาษีที่ยังไม่สูง ก่อนเพิ่มอัตราการจัดเก็บมากขึ้นเป็นขั้นบันไดในทุกๆ 2 ปี สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว และไม่โยนภาระไปยังผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคา เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อยอดขายอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการหลายรายได้ปรับตัวโดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มให้น้อยลง ด้วยการออกสูตรใหม่ “ซีโร่ ชูการ์” หรือ ”โลว์ ชูการ์” ที่มีความหวานน้อยไร้น้ำตาล ไร้แคลอรี แทนการใช้น้ำตาลแบบสูตรเดิม และให้รับกับเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภคซึ่งมาแรง จึงปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มคนรักสุขภาพ และเพื่อรับมือกับการจะปรับขึ้นภาษีความหวานรอบใหม่

 

ทั้งนี้อัตราการจัดเก็บภาษีช่วง 2 ปีแรก บังคับใช้วันที่ 16 ก.ย. 2560 ถึง 30 ก.ย. 2562 ในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ และน้ำพืชผัก หากมีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หรือครึ่งลิตร ไม่เสียภาษี, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร และหากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร

ดังนั้นช่วงตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 ถึง 30 ก.ย. 2564 จะเพิ่มอัตราการเก็บภาษีต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตรมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมยังคงเดิม แต่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่าตัว ได้แก่ กลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.5 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 100% กลุ่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 3 บาท/ลิตร จากเดิม 1 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 200% และกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 5 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 400%

 

 

ส่วนช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 จนถึงวันที่ 30 ก.ย 2566 เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ต้องเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล เกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และหากปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

ขณะที่ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ต้องเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ส่วนเครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นอัตราสูงสุด

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยกับ ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า การจัดเก็บภาษีความหวาน มีจุดประสงค์เพื่อให้คนไทยผู้บริโภคน้ำตาลน้อยลง ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข จึงนำเกณฑ์ชี้วัดค่าความหวานมากำหนดอัตราการจัดเก็บภาษี ซึ่งในช่วงเริ่มบังคับใช้ระหว่างปี 60-61 การเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่ม ยังเป็นช่วงกำลังเปลี่ยนผ่าน เรียกได้ว่ายังไม่มีการเก็บจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยวันที่ 1 ต.ค. 2562 นี้ จะเริ่มจริง หากผู้ผลิตไม่สามารถลดความหวานในผลิตภัณฑ์ จะถูกเก็บภาษีระดับหนึ่ง และเมื่อผ่านไปอีก 2 ปี ซึ่งเป็นช่วง 3 ในปี 2564 เป็นต้นไป จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงสุด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเก็บภาษีความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร และหลังวันที่ 1 ต.ค. 2562 จนถึง 30 ก.ย.2564 จะเก็บ 3 บาทต่อลิตร และหลังจากนั้นจะปรับเพิ่มสูงสุด 5 บาทต่อลิตร ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตทั้งหลายมีแนวโน้มลดอัตราความหวานลง เพื่อจะทำให้เสียภาษีความหวานเท่าเดิม โดยไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น อย่างเครื่องดื่มน้ำอัดลมบางส่วน มีการปรับลดน้ำตาลจาก 14 กรัมต่อลิตร เหลือ 12 กรัมต่อลิตร เพื่อเสียภาษีให้ต่ำลง

“ยอมรับมีเครื่องดื่มบางตัวที่มีผลิตภัณฑ์เป็นสัญลักษณ์ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสูตร เพราะเป็นตลาดใหญ่ของผู้บริโภค คงทำได้ยาก ต่างจากน้ำอัดลมสี ที่สัดส่วนตลาดมีน้อยก็มีการเปลี่ยนสูตรลดน้ำตาล ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหวานน้อยลง เพื่อไม่ให้กระทบกับยอดขาย”  พร้อมย้ำการจัดเก็บภาษีความหวานของกรมสรรพสามิต ไม่ได้มีเป้าหมายหรือคาดหวังว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น แต่อยากให้ผู้บริโภคลดการบริโภคเครื่องดื่มที่หวาน โดยคาดว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีความหวานจะอยู่ประมาณ 2-3 พันล้านบาทเท่านั้น หรือประมาณหลักพันล้าน ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับเป้ารายได้จัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในปีงบ 62 ซึ่งอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท โดยขณะนี้ใกล้เข้าเป้าแล้ว.

 

ขอบคุณบทความดีๆ จาก  ไทยรัฐ

Update ข่าวสารโดย MameaW